วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจชุมชน

เศรษฐกิจชุมชน
    
    ระบบเศรษฐกิจในสังคมไทยมี ทั้งกระแสหลัก และกระแสรอง  กระแสหลักคือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ที่พวกเรารู้จักกันมาช้านาน  เป็นระบบที่เน้นการค้า  การลงทุนเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการบริการระหว่างประเทศ  (การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยอาศัยเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้  ภูเขา แหล่งน้ำ  ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในการผลิตสินค้าตอบสนองทุนนิยม) ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 – 7  นั้น  ทำ ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาเช่น
  1. ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และความยากจนรุนแรงขึ้น   
  2. ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้น  และมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง
  3. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
  4. การบริหารทางเศรษฐกิจและการเมือง และระบบราชการยังมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ
  5. สังคมไทยตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ขาดการกลั่นกรองและเลือกใช้  วัฒนธรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม  จึงก่อให้เกิดปัญหาทางด้านศีลธรรมและสังคมมากขึ้น 
    จนมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 8 (2540-2544)  เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย  ที่ต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบ เศรษฐกิจและสังคม มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤต  พร้อมทั้งวางรากฐานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง  มีเสถียรภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก และสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นระบบเศรษฐกิจชุมชน  เป็นความพยายามของสังคมไทยในการหาทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ชุมชนมีสมรรถภาพพอที่จะทำได้  ภายใต้ความรู้ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ เป็นแนวทางของการรู้จักตนเอง  เลือกทำในสิ่งที่เรามีข้อเด่น เน้นในการพัฒนาคน  เน้นการพึ่งตนเอง อยู่อย่างพอเพียง   เน้นการสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน  ให้เป็นการพัฒนาจากล่างสู่บน  เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นระบบเศรษฐกิจชุมชนที่ดี ซึ่งกระแสพระราชดำรัสของในหลวง  ก็ชัดเจนในเรื่องระบบเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งตนเอง มากว่า 25 ปีแล้ว และมีบางชุมชนได้ยึดเอาแนว ทางนี้ปฏิบัติและได้ผลในการพึ่งตนเอง เช่นระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองศรีษะอโศก  ลานนาอโศก  ชุมชนไม้เรียงและอื่นๆ ดังนั้น  จึงต้องทำความเข้าใจว่าเศรษฐกิจชุมชนคืออะไร  มีแนวคิดและกระบวนการอย่างไร  และจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ยั่งยืนได้อย่างไร?
    เศรษฐกิจชุมชนคืออะไร  
    ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจชุมชน  คงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “ชุมชน” คืออะไร  และ “เศรษฐกิจ”  คืออะไร
ชุมชน ประกอบด้วย   ครอบครัวหลายครอบครัวที่มาอยู่รวมในที่เดียวกัน และมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ  ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ  “การผลิต  การบริโภค  และการกระจายผลผลิต  คือ  การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิต
เศรษฐกิจชุมชน  จึงหมายถึง  การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ  ทั้งในด้านการผลิต  การบริโภค  และการกระจายผลผลิต  โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้น  คือ  ให้มีส่วนร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมรับผลประโยชน์   บนรากฐานความสามารถที่มีอยู่  จากการใช้   “ทุนของชุมชน”  ซึ่งทุนของชุมชนทั้งที่เป็น  ทุนทางสังคม  เช่น วิถีการผลิต  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศาสนสถาน  โรงเรียน  ที่ดิน  ทรัพยากร  การคมนาคมขนส่ง นั้นคือ  สมาชิกในชุมชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า  พวกเราจะผลิตอะไรได้บ้าง  ตามศักยภาพและทุนประเภทต่างๆ  ที่มีอยู่  เราจะผลิตกันอย่างไร  แล้วเราจะแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตกันอย่างไร  คือชุมชน  คิดเอง  ทำเอง  แล้วก็ได้เอง ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน คือ  ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต  แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด  ความพอเพียง ความพึ่งตนเองที่เราพูดถึงขึ้นอยู่กับการใช้แรงงานเป็นอย่างมาก  พึ่งแรงงานในครอบครัว  พึ่งทรัพยากรท้องถิ่น  พึ่งตนเอง  และพึ่งกันเองในชุมชนก่อน  และหากจะขาย  ก็ขายในตลาดใกล้ตัว  ตลาดภูมิภาค  ตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนนั้น  ฝังตัวอยู่ในสังคมและวัฒนธรรม
แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนในประเทศไทย
แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนในสังคมไทย  มีอยู่หลายแนวทาง  แต่มีเป้าหมายในการนำชุมชนไปสู่การพึ่งตนเอง  ทั้งแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ทฤษฏีใหม่  วิสาหกิจชุมชน และอื่นๆ  ซึ่งจะได้นำเสนอแต่ละแนวคิดพอสังเขปดังนี้
เศรษฐกิจชุมชน  แนวคิดที่ว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ  ร่วมทำ  ร่วมรับผลประโยชน์ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ  ทั้งในด้านการผลิต  การบริโภค  จากการใช้   “ทุนของชุมชน”
เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง  ใช้แนวคิดของพุทธศาสนา “ตนนั้นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน”  แนวคิดนี้เห็นว่าฐานที่สำคัญที่สุดของคนคือ  คนจำเป็นต้องกิน  ต้องบริโภค  ดังนั้นการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดของคน  การค้า และการตลาด มีความสำคัญรองลงมา  เพราะฉะนั้น  ก่อนอื่น  ต้องให้ชุมชนหรือเกษตรกรผู้ผลิตพึ่งตนเองให้ได้ ชุมชนต้องพึ่งพาตนเองให้ได้  และในท้ายที่สุด สังคมและประเทศจึงจะพึ่งตนเองได้  ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ และทรัพยากรของท้องถิ่นควบคู่ไปกับการพึ่งตนเอง  แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการค้า  หากเกษตรกรสามารถทำการผลิตข้าว ปลา อาหาร ไว้กินในครอบครัวได้อย่างพอเพียง  เกษตรกรจะเป็นฝ่ายกำหนดตลาดได้ว่าจะนำผลผลิตส่วนที่เหลือไปสู่ตลาดเมื่อไหร่ และสามารถกำหนดราคาเองได้
  1. ชุมชนเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง
  2. ผลผลิตมาจากกระบวนการชุมชน
  3. ริเริ่มสร้างสรรค์จากชุมชน
  4. ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น+สากล
  5. เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ (บูรณาการ)
  6. กระบวนการเรียนรู้
  7. การพึ่งพาตนเอง
เศรษฐกิจชุมชน 

เศรษฐกิจพอเพียง   ยึดหลักการผลิตและบริโภคบนความพอประมาณ มีเหตุผล  มีความสมดูล  และมีภูมิคุ้มกันที่ดี  เป็นพื้นฐานการพัฒนาทุกเรื่อง  และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนไทย  โดยการพึ่งพาตนเองได้ในยุคโลกาภิวัฒน์
เศรษฐกิจพอเพียงจึงหมายถึงเศรษฐกิจสมดุล เป็นการกลับสู่สมดุลของสังคม เศรษฐกิจ จิตใจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความพอเพียง 7 ด้านคือ ครอบครัวพอเพียง จิตใจ (เอื้ออาทร) พอเพียง สิ่งแวดล้อมพอเพียง ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง ปัญญาพอเพียง ฐานวัฒนธรรมพอเพียง และมีความมั่นคงพอเพียง
แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน นั้น  ได้วางแผนพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ตามขั้นตอนของ ทฤษฎีใหม่  ดังต่อไปนี้
    ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 : ผลิตอาหารบริโภคเอง เหลือขาย ทำให้มีกินอิ่ม ไม่ติดหนี้ มีเงินออม
    ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 : รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชน ทำเศรษฐกิจชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน ขายอาหาร ขายสมุนไพร ตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทย จัดการท่องเที่ยวชุมชน มีกองทุนชุมชนหรือธนาคารหมู่บ้าน
    ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 : เชื่อมโยงกับบริษัททำธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการส่งออก
รวมไปถึงเรื่อง   วิสาหกิจชุมชน  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งจำนวนหนึ่งอยู่ในระดับที่ไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้า ให้ได้รับการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญา ท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ และพัฒนารูปแบบ ของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ ของหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้น
    วิสาหกิจชุมชน คือ  การประกอบการขนาดเล็กๆ  เพื่อการจัดการทุนของชุมชน อย่างสร้างสรรค์เพื่อการพึ่งตนเอง  ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับแผนแม่บทชุมชน  เกิดจากการเรียนรู้ที่ชุมชนได้ค้นพบ ทุน ที่แท้จริงของตนเอง  และเพิ่มมูลค่าและพึ่งพาตนเองได้ โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ
เหล่านี้เป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อนำชุมชนไปสู่ระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจชุมชนจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าขาดซึ่ง อำนาจ ภูมิปัญญาและการจัดการอย่างชาญฉลาด  เศรษฐกิจชุมชนมิได้หวังความร่ำรวย อยู่อย่างเกินฐานระ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกลับไปอยู่อย่างบรรพกาล  จะต้องตั้งอยู่บนความพอดี  ไม่ไหลเอียงไปทางใดทางหนึ่ง  แต่จะอยู่อย่างเรียนรู้  รู้เท่าทันถึงความเป็นไป ปราศจากการครอบงำ  ภายใต้หลัก          อิทัปปัจจยตา (เพราะสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้ไม่ได้  สิ่งนี้จึงไม่มี)  หลักของศาสนาพุทธ  สุดท้ายสังคมไทย  คือ  สังคมแห่งความพอดี  สังคมของทางสายกลางนั่นเอง
แนวทางการขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชนจะเป็นอย่างไร  น่าจะมีการพิจารณาและศึกษา  นั่นคือการคิดขยายขนาดของเครือข่ายชุมชนให้ใหญ่ขึ้น  เป็นฐานของการพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาค  และถักทอเศรษฐกิจภูมิภาคขึ้น  เป็นเศรษฐกิจแห่งชาติ  สร้างจากล่างขึ้นไป  คู่ขนานกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยม  ซึ่งสร้างจากข้างบนลงมา  เมื่อนั้นระบบเศรษฐกิจชุมชนจะปรากฏเป็นอีกระบบหนึ่ง  ที่เป็นระบบของผู้คนธรรมดาสามัญแท้จริง ส่วนรัฐบาลควรเลือกเดินทางสายกลาง  มากกว่าที่จะเลือกเดินไปกับเศรษฐกิจกระแสใดกระแสหนึ่ง  คือ  การสร้างดุลยภาพระหว่างเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  ที่เรียกกันว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม” กับเศรษฐกิจกระแสรองที่เรียกกันว่า “ระบบเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง”  โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้กิจกรรม ขนาดและ มูลค่าของระบบเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองเติบโตและมีบทบาทในทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมมากขึ้นเป็นลำดับ  จนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกหรือทุนนิยม  การมีสองยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแผนฯ ฉบับเดียวกัน  น่าจะทำให้ประเทศไทยมีหลักประกันความมั่นคงมากยิ่งกว่าการเน้นแต่การส่งออกเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันรัฐบาลควรหันเหให้ ยุทธศาสตร์เพื่อการส่งออกมาเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศให้มากขึ้น  แทนที่จะตอบสนองผลประโยชน์ให้กับพ่อค้าส่งออกจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งดังในอดีตที่ผ่านมา
    ความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน
  1. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรูปแบบเศรษฐกิจ  ที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่และลักษณะของสังคมไทย
  2. เศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบเศรษฐกิจที่มอง และวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆอย่างเป็นระบบ
    หรืออย่างเป็นองค์รวม
  3. เศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายตัว  กระจายความเข้มแข็งและยั่งยืนไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค
  4. เศรษฐกิจชุมชนสามารถพัฒนาขีดความสามารถของคน ครอบครัว  ชุมชน  จากการสร้าง กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้พึ่งตนเองได้
  5. เศรษฐกิจชุมชนเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กัน   ที่มา:http://www.trf.mju.ac.th/lobby/lobby.php?Lpage=AT&id=AAT520102.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น