วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย


อารยธรรมเมโสโปเตเมีย


1. สภาพทางภูมิศาสตร์ของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
          ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) คือบริเวณดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรติส (Euphrates) หรือบริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญของโลก ดินแดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากแม่น้ำทั้งสองสายท่วมท้นตลิ่งในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อน้ำลดพื้นดินจึงเต็มไปด้วยโคลนตมที่กลายเป็นปุ๋ยอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ดินแดนจากเมโสโปเตเมียไปจนถึงชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงมีชื่อว่า ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (The Fertile Crescent) หรือ วงโค้งแห่งความอุดมสมบูรณ์
เมโส
2. การตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์ต่างๆ
          ผู้ตั้งหลักแหล่งพวกแรกของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย คือ พวกสุเมเรียน ภายหลังจากนั้นจึงมีพวกเซมิติกและสาขา เช่น พวกฟินีเชียน อมอไรต์และฮิบรู พวกอินโด-ยูโรเปียน และสาขา ได้แก่ พวกฮิตไตท์และเปอร์เซียน อพยพจากดินแดนตอนเหนือเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนเมโสโปเตเมียในเวลาต่อมา
3. ด้านการเมืองการปกครอง
          ชาวสุเมเรียนรวมตัวกันเป็นแว่นแคว้นแบบนครรัฐ มีเจ้าผู้ครองนครทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนา มีฐานะเสมือนเทพเจ้าประจำนคร ปกครองแบบนครรัฐอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ต่อมาเริ่มมีการแย่งชิงดินแดนและแหล่งน้ำระหว่างรัฐ จนในที่สุดถูกโจมตีจากพวกคาลเดียน ที่มีอำนาจจนสามารถตั้งอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงบาบิโลน ภายหลังจากนั้นก็มีพวกอื่นเข้ามาโจมตีอาณาจักรนี้ จนกระทั่งผู้นำเผ่าอมอไรต์(เป็นสาขาหนึ่งของพวกเซมิติก)  เข้ายึดอาณาจักรบาบิโลนพร้อมทั้งสถาปนาผู้นำขึ้นเป็นกษัตริย์
เมโสๅ.png2
          ชาวอมอไรต์มีกษัตริย์ชื่อ พระเจ้าฮัมมูราบี เป็นผู้มีชื่อเสียง เนื่องจากทรงขยายอำนาจและทำการปกครองอย่างมีระบบ เห็นได้จากการที่ทรงโปรดให้ประมวลกฎหมายของนครรัฐต่างๆ เป็นกฎหมายชื่อ “ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี” ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายที่จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก บันทึกไว้ด้วยอักษรรูปลิ่ม ลักษณะกฎหมายมีความเข้มงวดกว่ากฎหมายเดิมของชาวสุเมเรียน ซึ่งลงโทษโดยเสียเงินค่าปรับ แต่ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีเป็นการลงโทษโดยใช้หลัก “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
          พวกอัสซีเรียน (Assyrian) (เป็นสาขาหนึ่งของพวกสุเมเรียน) เข้าปกครองอาณาจักรบาบิโลน จึงได้สืบทอดความเจริญและปรับปรุงการปกครองโดยแบ่งอาณาจักรออกเป็นมณฑลต่างๆ มีข้าหลวงปกครองโดยขึ้นตรงต่อกษัตริย์
    พวกฮิบรู (Hebrew) (เป็นสาขาหนึ่งของพวกเซเมติก) เดิมเป็นเผ่าเลี้ยงสัตว์ร่อนเร่ ต่อมาพวกนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครรัฐสุเมเรียน แต่ยังไม่สามารถตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองจนกระทั่งพระเจ้าเดวิด (ครองราชย์ประมาณ 470 – 430 ปี ก่อนพุทธศักราช) ได้ตั้งอาณาจักรอัคคัท (Akkad) ของฮิบรูได้สำเร็จ อาณาจักรฮิบรูมีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าโซโลมอน (Solomon) (ครองราชย์ประมาณ 430 – 390 ปีก่อนพุทธศักราช) แล้วจึงสลายไปในเวลาต่อมา
          พวกเปอร์เซียน (Persian) (เป็นสาขาหนึ่งของพวกอินโด-ยูโรเปียน) ที่อพยพเคลื่อนย้ายจากดินแดนเอเชียกลางเพื่อแสวงหาที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ จนในที่สุดจึงตั้งถิ่นฐานบริเวณดินแดนดั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียนจนถึงอ่าวเปอร์เซีย กษัตริย์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great)
          กษัตริย์เปอร์เซียองค์ต่อมาคือ พระเจ้าดาริอุสมหาราช (Darius the Great) ทรงขยายอำนาจออกไปปกครองดินแดนรูปพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ภายหลังรัชกาลของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 143 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีก เข้าโจมตีเมืองเปอร์ซีโปลิส ทำให้อิทธิพลกรีกแผ่เข้ามาในอาณาจักรเปอร์เซีย
4. ด้านเศรษฐกิจ
          บรรดาชนเผ่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนเมโสโปเตเมีย ชาวสุเมเรียนนับว่ามีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าวสาลี และเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้แรงงานและทำผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อบริโภค ได้แก่ เนื้อ นม เนย และใช้ขนสัตว์ที่ย้อมสีแล้วทอเป็นผ้าสำหรับนุ่งห่มและทำเป็นพรมใช้ในชีวิตประจำวัน
          การที่ชาวสุเมเรียนมีความรู้ในการคำนวณและความรู้ทางดาราศาสตร์สามารถทำปฏิทินแบบจันทรคติอาศัยคาบเวลาระหว่างดวงจันทร์วันเพ็ญ โดยกำหนดให้เดือนหนึ่งเฉลี่ยนาน 29กับ ½ วัน และแบ่งปีออกเป็น 12 เดือน ทำให้รู้เวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและยังทำให้สามารถกำหนดวันที่ควรจะออกเดินทางไปติดต่อค้าขาย เช่น การใช้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดวงดาวเป็นเครื่องนำทางให้เดินไปถึงจุดหมาย นอกจากนี้ความรู้ด้านการบวก ลบ คูณ และระบบการชั่ง ตวง วัด ทำให้ชาวสุเมเรียนมีความสามารถในด้านการค้า
          เมื่อประมาณ 1,750 ปีก่อนพุทธศักราช อาณาจักรบาบิโลนมีความมั่นคงทางการเมืองการปกครองและการค้า พ่อค้าเมโสโปเตเมียเดินทางค้าขายกับเมืองต่างๆในดินแดนเอเชียตะวันออกกลางไปจนถึงดินแดนที่ไกลออกไป ได้แก่ อินเดียและจีน โดยใช้โลหะ เงิน และทองคำ ซื้อ-ขายสินค้าจำพวกธัญพืช ผ้าและสินค้ามีค่าอื่นๆ ทำให้อาณาจักรบาบิโลนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของโลกในยุคนั้น
5. ด้านสังคม
          หลักฐานการจัดระเบียบสังคมในดินแดนเมโสโปเตเมีย ได้แก่ ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีที่สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างสังคมในดินแดนนี้ประกอบด้วยชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ กษัตริย์ พระราชวงศ์และขุนนาง กลุ่มขุนนางมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งด้านการปกครองและศาสนา ส่วนคนที่ถูกปกครอง ได้แก่ ช่างฝีมือ พ่อค้า ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ส่วนกรรมกรและทาสถือว่าเป็นชนชั้นต่ำในสังคม กฎหมายฮัมมูราบีนับว่าทันสมัยในยุคนั้น คือ การรับรองสิทธิในทรัพย์สินของคนในสังคม และคนในสังคมมีความรับผิดชอบต่างกัน
6. ด้านศาสนา
          ในด้านความเชื่อ คนในดินแดนเมโสโปเตเมียมีความเชื่อถือโชคลาง เทพเจ้าที่สถิตในธรรมชาติซึ่งมีอยู่หลายองค์ ยกเว้นพวกฮิบรูซึ่งเป็นชนเผ่าที่นับถือพระ เจ้าองค์เดียว มีพระนามว่า “พระยะโฮวาห์”
          ความเชื่อในศาสนาทำให้เกิดการสร้างศาสนสถาน เช่น ชาวสุเมเรียนนำดินเหนียวมาสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ซิกกูแรต” เพื่อบูชาเทพเจ้าที่มีหลายองค์ เช่น เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ส่วนเทพเจ้าสูงสุด ได้แก่ เทพที่ควบคุมฤดูกาล สิ่งของที่นำมาบูชาเทพเจ้า ได้แก่ โลหะ เงิน ทอง และสิ่งมีค่าอื่นๆ รวมทั้งการบูชายัญ
เม
7. ด้านภาษาและวรรณกรรม
         การประดิษฐ์ตัวอักษรของชาวสุเมเรียนเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนพุทธศักราชนั้น นักโบราณคดีเชื่อว่าชาวสุเมเรียนเป็นชนชาติแรกที่คิดประดิษฐ์อักษรได้ก่อนชนชาติอื่น ตัวอักษรดังกล่าวเรียกว่า ตัวอักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) หรืออักษรรูปลิ่ม มีลักษณะเป็นอักษรภาพเช่นเดียวกับอักษรภาพของชาวอิยิปต์ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องหมายรูปลิ่มจำนวนหลายร้อยตัว เขียนโดยการกดก้านอ้อแหลมๆลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังไม่แห้ง แล้วนำไปตากหรือเผาจนแข็ง อักษรรูปลิ่มนี้กลายเป็นต้นแบบตัวอักษรของโลกตะวันตก คือ กรีกและโรมันในเวลาต่อมา จุดมุ่งหมายของการประดิษฐ์อักษรรูปลิ่มนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า และใช้ในการเขียนคำประพันธ์บทกวีต่างๆ ส่งผลให้คนในยุคนั้นรวบรวมเหตุการณ์และความรู้ต่างๆจดเป็นบันทึกไว้ให้คนรุ่นต่อมาได้มีหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคนี้
สุเม
          วรรณกรรมของชาวสุเมเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และชีวิตในทางเศรษฐกิจ ชาวเมโสโปเตเมียยังสร้างมหากาพย์เทพตำนานและประวัติศาสตร์ เช่น คือ มหากาพย์กิลกาเมช บรรจุเรื่องราวเทพตำนานที่เป็นหลักของตน โครงเรื่องที่เป็นหลักของกาพย์นี้ คือ ชัยชนะของกิลกาเมชแสดงสัญลักษณ์ของมนุษย์เหนือธรรมชาติ  วรรณกรรมศาสนา บทสวด และธรรมจริยาก่อให้เกิดวรรณกรรมของบาบิโลเนียนในบรรดาสิ่งที่ปราชญ์กล่าวไว้ เช่น  “อย่าเร่งรีบในการพูดในที่สาธารณะ”  “หลีกเลี่ยงความชั่วร้าย และการเกลียดชัง”
8. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปกรรม
          ในดินแดนเมโสโปเตเมียได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆหลายอย่าง เช่น ชาวสุเมเรียนได้ประดิษฐ์คิดค้นล้อเกวียน ซุ้มโค้ง (Arch) ซี่งช่วยทำให้อาคารแข็งแรงขึ้น แป้นหมุนที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา ความรู้ทางการคำนวณ การแบ่งชั่วโมงออกเป็น 60 นาที รู้จักทำสำริดโดยนำทองแดงมาหลอมกับดีบุก ทำเครื่องมือโลหะที่ใช้ในการทำไร่ทำนา
          ชาวอัสสีเรียนเป็นชาติที่ชำนาญในด้านการรบได้ผลิตอาวุธที่ทำด้วยโลหะ เช่น ดาบ หอก ธนู โล่ และเกราะ รวมทั้งยุทธวิธีในการรบ เช่น การใช้ต้นซุงเข้ากระทุ้งกำแพงเมืองและรวบรวมตำราพิชัยสงคราม โดยเขียนไว้ในแผ่นดินเหนียวเป็นจำนวนมาก ผู้นำอัสซีเรียนได้ขยายการปกครองจนมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ ในสมัยของพระเจ้าอัสซูร์บานิปาล (Ashubanipal) ได้สร้างห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดขณะนั้นขึ้นที่เมืองนิเนเวห์ (Nineveh) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเป็นที่สำหรับเก็บแผ่นจารึกดินเหนียวไว้ถึง 22,000 แผ่น ศิลปกรรมที่สำคัญของชาวอัสซีเรียน คือ ภาพสลักนูนต่ำ ซึ่งแสดงชีวิตประจำวันและการทำสงครามของชาวอัสซีเรียน
         ชาวสุเมเรียนยังสร้างพาหนะที่มีล้อใช้สัตว์ลาก การประดิษฐ์ล้อลากเพื่อทุ่นแรง ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานในการพัฒนาพาหนะประเภทเกวียนและรถยนต์ในโลกจนถึงปัจจุบัน
เมดโซ
          ชาวสุเมเรียนที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ต้องเผชิญกับน้ำท่วมจากการไหลบ่าของแม่น้ำไทกริส – ยูเฟรติส ดังนั้นจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาโดยการขุดคลองระบายน้ำหรือทำทำนบกั้นน้ำ นับเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาโดยควบคุมธรรมชาติ ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมของพวกสุเมเรียนเป็นพื้นฐานแก่ชนเผ่าอื่นๆ เช่น พวกบาบิโลเนียนที่ได้สร้างสวนลอยมีต้นไม้เขียวขจีตลอดปี เรียกกันว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Garden of Babylon) สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลนได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ นอกจากนี้ชาวเมโสโปเตเมียยังรู้จักการสร้างอุโมงค์น้ำใต้ดินเพื่อส่งน้ำมาใช้ในเมืองหลวงได้อีกด้วย ความเจริญของคนในดินแดนเมโสโปเตเมีย ยังได้แพร่หลายไปสู่ดินแดนใกล้เคียงและมีอิทธิพลต่ออารยธรรมอิยิปต์ กรีกและโรมันในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น